สาเหตุการตายของลูกสุนัขแรกเกิด

106680 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สาเหตุการตายของลูกสุนัขแรกเกิด


ลูกสุนัขแรกเกิดในช่วงอายุ 1-7 วัน (ลูกอ่อน) ลูกสุนัขจะมีอัตราการเสี่ยงของการรอดชีวิตสูง ดังนั้น ในช่วงลูกสุนัขแรกเกิดนี้เป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ มีหลายสาเหตุที่ทำให้ลูกสุนัขต้องเสียชีวิต จะจำแนกสาเหตุการตายของลูกสุนัขแรกเกิดดังนี้


- ความสมบูรณ์ของลูกสุนัขแตกต่างกัน
ลูกสุนัขแรกเกิดนี้ในหนึ่งครอกแม่สุนัขจะตกลูกได้หลายตัว จำนวนลูกสุนัขจะเป็นกี่ตัวก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ของแม่สุนัข ลูกสุนัขอาจจะมีความสมบูรณ์ต่างกัน ลูกสุนัขตัวที่ใหญ่กว่าเพื่อนก็ย่อมมีความแข็งแรงกว่าตัวที่เล็กและอ่อนแอกว่า ลูกสุนัขตัวใหญ่อาจคลานมาดูดนมแม่ได้เอง ส่วนตัวเล็กอาจไม่สามารถคลานมาดูดนมแม่ได้ ฉะนั้นผู้เลี้ยงจึงมีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยลูกสุนัขที่ตัวเล็กและอ่อนแอกว่า โดยการจับให้ลูกสุนัขมาอยู่ที่เต้านมแม่สุนัขและจับให้ลูกสุนัขได้ดูดนมแม่ได้
โดยเฉพาะในช่วง 1-3 วันแรก น้ำนมของแม่สุนัขจะเป็นนมที่มีคุณประโยชน์มาก หรือที่เรียกว่า “นมเหลือง” นมเหลืองของแม่สุนัขจะช่วยขับขี้เถา ช่วยให้ลูกสุนัขเติบโตและมีความแข็งแรงได้ สังเกตจากลูกสุนัขแรกเกิดที่แข็งแรงสามารถดูดกินนมแม่ได้มากก็จะมีความอ้วนท้วนแข็งแรงมาก ถ้าหากลูกสุนัขแรกเกิดอ่อนแอไม่สามารถดูดนมจากแม่สุนัขได้ ลูกสุนัขนี้แหละน่าเป็นห่วง จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ผู้เลี้ยงจะต้องเป็นผู้ช่วยเหลือจับให้ลูกสุนัขตัวที่อ่อนแอมาดูดนมแม่
บางครั้งลูกสุนัขอาจเกิดมาตัวเล็กและไม่แข็งแรงโดยกำเนิด จึงไม่สามารถดูดนมแม่เองได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องป้อนนมให้กับลูกสุนัข โดยใช้นมผงสำหรับสุนัข (มีหลายยี่ห้อ ขายตามร้านเพ็ทช็อปทั่วไป) หรือนมผงสำหรับทารกก็ได้ ชงใส่ภาชนะแล้วใช้ซีรินช์ดูดทีละนิด หยอดใส่ปากข้างๆแก้มช้าๆทีละน้อย กะเวลาการให้เป็นช่วงๆ อาจจะป้อนนมทุกๆ 2 ชั่วโมงในช่วงอายุ 1-3 วันแรก และป้อนนมทุก 3 ชั่วโมงในช่วงอายุ 4-7 วัน เมื่อลูกสุนัขได้นมเป็นอาหารก็จะทำให้ลูกสุนัขที่ตัวเล็กอ่อนแอเริ่มที่จะสมบูรณ์แข็งแรงขึ้นมาได้ และดูดนมแม่เองได้ในที่สุด
 
- แม่สุนัขทับลูกตาย
ในช่วงวันแรกหลังจากแม่สุนัขคลอดลูกเสร็จ แม่สุนัขย่อมมีอาการเพลียหมดแรง ประกอบกับลูกสุนัขในหนึ่งครอกมีจำนวนมากกว่า 1 ตัวหรือหลายๆตัว แม่สุนัขอาจนอนทับลูกอ่อนได้และลูกสุนัขอ่อนก็ไม่สามารถดิ้นและคืนคลานออกมาจากตัวแม่สุนัขได้ ลูกสุนัขก็ขาดอากาศหายใจและขาดใจตายในที่สุด โดยเฉพาะแม่สุนัขพันธุ์ใหญ่ๆจะพบปัญหาข้อนี้ได้มาก
ในช่วงลูกสุนัขอ่อนจึงต้องอาศัยผู้เลี้ยงหมั่นคอยดูแลเอาใจใส่ เมื่อได้ยินเสียงลูกสุนัขร้อง ก็ต้องมาดูว่าแม่สุนัขทับลูกสุนัขหรือไม่ หากแม่สุนัขนอนทับลูกอ่อน ผู้เลี้ยงจะได้ช่วยจับออกได้ทัน
 
- แม่สุนัขมีน้ำนมไม่เพียงพอ
ความสมบูรณ์ของแม่สุนัขก็เป็นเรื่องสำคัญ ผู้เลี้ยงต้องให้อาหารที่มีคุณประโยชน์แก่แม่สุนัขด้วย เพื่อที่แม่สุนัขมีความสมบูรณ์และจะได้มีน้ำนมที่เพียงพอแก่ลูกสุนัขด้วย หากแม่สุนัขที่ไม่ได้กินอาหารที่มีประโยชน์แล้ว แม่สุนัขที่ผอมก็อาจไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน ลูกสุนัขก็ย่อมไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของลูกสุนัขได้
อาจเพิ่มปริมาณอาหารให้แม่สุนัขมากขึ้นหรือเพิ่มจำนวนมื้อมากขึ้น อาหารที่มีประโยชน์แก่แม่สุนัข ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปสูตรโปรตีนสูง และเนื้อ นม ไข่
อาหารหนัก – อาหารสำเร็จรูปสูตรโปรตีนสูง + เนื้อต้มสุก หรือตับไก่ต้มสุก + ไข่ต้มสุก
อาหารเบา – นมสด หรือนม + ไข่ไก่สด
โดยอาจให้อาหารหนักวันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น และอาหารเบา 1 มื้อ ก่อนนอน
หรืออาหารหนัก 2 มื้อ เช้า เย็น และอาหารเบา 2 มื้อ กลางวัน ก่อนนอน
**แล้วแต่ความเหมาะสม-ความสมบูรณ์ของแม่สุนัข**
 
- อาการเฉาในลูกสุนัข
อาการเกิดขึ้นได้ในลูกสุนัขที่ถูกจับต้องมากเกินไปหรือจับอุ้มอยู่นาน มีวิธีป้องกันไม่ให้ลูกสุนัขเฉามือโดยใส่ถุงมือผ้าเวลาที่ผู้เลี้ยงต้องคอยจับลูกสุนัขให้กินนมแม่ หรือแม่สุนัขที่เลี้ยงลูกไม่เป็นอาจรุกรี้รุกรนมากกว่าปกติ ทำให้ลูกสุนัขกระจายออกจากอกแม่ ผู้เลี้ยงก็ต้องคอยจับให้แม่สุนัขนอน ปลอบมันให้นอนนิ่งๆแล้วจับลูกสุนัขมาไว้ที่อกแม่อยู่บ่อยๆ ในกรณีนี้ผู้เลี้ยงควรสวมถุงมือทุกครั้งที่จับลูกสุนัข จะทำให้ลูกสุนัขไม่เฉามือ
 
- ความสะอาดในคอกที่นอน
ความสะอาดของที่นอนเป็นเรื่องที่สำคัญ ผ้าปูที่นอนควรเปลี่ยนออกมาทำความสะอาดและตากแดดฆ่าเชื้อโรค เพื่อไม่ให้เกิดโรคผิวหนังและเชื้อโรคต่างๆได้ โดยเฉพาะเรื่องความหมักหมม เปียกชื้น หากลูกสุนัขนอนบนที่นอนเปียก ลูกสุนัขจะเป็นหวัดและเป็นโรคปอดบวมได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกสุนัขอ่อนอย่างมาก
 
- อุณหภูมิและอากาศ
อากาศร้อนมากหรืออากาศหนาวเย็นจัดจะมีผลต่อลูกสุนัขอ่อน ในบ้านเราส่วนมากแล้วในเวลากลางวันจะพบปัญหาเนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าว ในกรณีที่ที่นอนลูกสุนัขมีอากาศร้อนอบอ้าวมากเกินไปจะทำให้ลูกสุนัขกินนมแม่ได้น้อย ผู้เลี้ยงอาจเปิดพัดลมระบายอากาศ โดยอย่าเปิดพัดลมหันไปโดนลูกสุนัขโดยตรง แต่ให้เปิดพัดลมไล่อากาศหรือหาวิธีป้องกันไม่ให้แดดส่องมาโดนที่นอนของสุนัขแม่ลูกอ่อนโดยตรง และปิดพัดลมเมื่ออากาศเริ่มเย็นลง ให้เข้าใจว่าจะต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่
เมื่ออากาศเย็นเกินไป ผู้เลี้ยงต้องให้ความอบอุ่นแก่ลูกสุนัข โดยใช้หลอดไฟที่ให้ความอุ่นเปิดอยู่เหนือที่นอนทำให้เกิดความอบอุ่นขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ลูกสุนัขคลานออกจากตัวแม่สุนัขจะได้ไม่หนาวสั่น เกิดอาการไมสบายได้
 
อาจมีสาเหตุอื่นๆอีกที่ทำให้ลูกสุนัขมีอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากผู้เลี้ยงมีความรู้พื้นฐานดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว จะช่วยให้ลูกสุนัขอ่อนรอดชีวิตได้ก็มีเปอร์เซ็นต์มาก
 
"สายรุ้ง"

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้