การเลี้ยงดูลูกสุนัขช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 วัน เป็นช่วงที่ต้องให้ความสำคัญให้การบำรุงดูแลลูกสุนัขเป็นอย่างยิ่ง เพราะลูกสุนัขจะเจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรงหรือจะอ่อนแอตายไปก็อยู่ในช่วงอายุนี้ ฉะนั้นเราอาจแบ่งแยกการเลี้ยงดูลูกสุนัขอ่อนเป็นช่วงอายุ ดังนี้
1. ช่วงแรกเกิดถึงอายุ 7 วัน
ในระยะ 7 วันแรกนี้ ถ้าลูกสุนัขในครอกออกมาจำนวนไม่มากและสมบูรณ์เท่ากันทุกตัว หรือไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ผู้เลี้ยงก็คงไม่ต้องดูแลอะไรยุ่งยากและพิถีพิถันมากนัก เพราะในด้านการเลี้ยงดูจะเป็นหน้าที่ของแม่สุนัขที่คอยให้ลูกได้กินนม แต่ถ้าลูกสุนัขออกมาจำนวนมาก มีตัวใหญ่บ้าง ตัวเล็กบ้าง แข็งแรงไม่เท่ากัน ผู้เลี้ยงต้องให้การดูแลเป็นสิ่งสำคัญ ลูกสุนัขที่ไม่แข็งแรงหรือตัวเล็กกว่าจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย อีกประการหนึ่งคือ แม่สุนัขเลี้ยงลูกเก่งเพียงใด ถ้าแม่สุนัขที่เลี้ยงลูกเก่ง ผู้เลี้ยงก็เบาใจและมีงานน้อย แต่แม่สุนัขที่เลี้ยงลูกไม่เป็น ผู้เลี้ยงก็ต้องรับหน้าที่มาคอยดูแลจับลูกให้ได้กินนมแม่ และคอยระวังไม่ให้แม่นอนทับลูก
อาหาร – อาหารของลูกสุนัขแรกเกิดจนถึง 7 วัน คือนมจากแม่สุนัขเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่ามากที่สุดโดยเฉพาะ 2-3 วันแรก แม่สุนัขจะมีนมเหลือง ควรพยายามให้ลูกสุนัขได้กินนมเหลืองจากแม่สุนัข แม่สุนัขที่มีน้ำนมมากเพียงพอต่อลูกทุกตัวในครอก สังเกตได้เลยว่าลูกสุนัขจะอ้วนท้วนสมบูรณ์แข็งแรงทุกตัว แต่ถ้าแม่สุนัขที่ไม่มีน้ำนมเพียงพอ ผู้เลี้ยงต้องป้อนนมเสริมให้ลูกสุนัข โดยใช้นมผงชนิดของเด็กทารก หรือปัจจุบันมีนมผงของลูกสุนัขโดยเฉพาะ ชงใส่ขวดนมเด็กป้อนให้ลูกสุนัขกิน อัตราการให้นมลูกสุนัข มากหรือน้อยอยู่ที่น้ำหนักตัว ขนาด สายพันธุ์ลูกสุนัข เช่น ลูกสนัขขนาดปานกลางอัตราการให้โดยสมมติเริ่มป้อนนมลูกสุนัขอายุ 2 วัน
อายุ 2 วัน ให้นม 15 ซีซี หรือครึ่งออนซ์ต่อครั้ง ให้ทุก 3 ชั่วโมง
อายุ 3-4 วัน ให้นม 20 ซีซี หรือ 2 ใน 3 ออนซ์ ให้ทุก 3-4 ชั่วโมง
อายุ 5-7 วัน ให้นม 30 ซีซี หรือ 1 ออนซ์ ให้ทุก 4 ชั่วโมง
(ค่อยๆเพิ่มจำนวนนมที่ป้อนลูกสุนัขในแต่ละวัน)
ในช่วงระยะนี้มีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่จะเป็นอันตรายต่อลูกสุนัข คือน้ำมันเป็นพิษ ถ้าครอกใดพบว่าแม่สุนัขมีน้ำนมเป็นพิษ เมื่อลูกสุนัขกินเข้าไปและช่วยไม่ทันจะทำให้ลูกสุนัขถึงตายได้ ผู้เลี้ยงต้องมีความละเอียดรอบคอบสังเกตลักษณะเต้านมเสมอ ถ้าเต้านมมีลักษณะเป็นไตแข็งหรือน้ำนมมีสีเป็นหนอง ควรนำแม่สุนัขไปให้สัตว์แพทย์ตรวจรักษา จะได้แก้ไขกันตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยให้การสูญเสียลูกสุนัขเกิดขึ้นน้อย
ที่นอน – ที่นอนของสุนัขและลูกอ่อนจะต้องสะอาดเป็นสำคัญ มีผ้าปูให้แม่และลูกสุนัขอบอุ่น ไม่ควรให้นอนอยู่ในที่มิดชิดหรืออับชื้นเกินไป ควรจัดพื้นที่ขนาดพอควรกับแม่และลูกสุนัข จัดให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยให้แม่สุนัขเลี้ยงลูกได้ดี
2. การบำรุงเลี้ยงดูลูกสุนัขในช่วงอายุ 8-14 วัน
ลูกสุนัขที่เติบโตย่างเข้าอายุ 8 วันนี้ นับว่าพ้นระยะอันตรายมาได้ขั้นหนึ่งแล้ว แต่ก็มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นอีกหลายอย่างดังนี้
2.1 เมื่อลูกสุนัขอายุได้ 7-8 วัน ลูกสุนัขเริ่มมีเล็บคมและยาวออกมาพอควร ซึ่งในขณะที่ลูกสุนัขกำลังดูดนมแม่ ลูกสุนัขจะยัน-ตะกุยเต้านมแม่สุนัข ทำให้บริเวณเต้านมโดนข่วนและเป็นแผล แม่สุนัขอาจเจ็บแผลและไม่อยากให้ลูกสุนัขกินนม ดังนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องใช้คีมตัดเล็บหรือกรรไกรตัดเล็บตัดที่ปลายเล็บของลูกสุนัขออก การตัดต้องตัดด้วยความระมัดระวัง ไม่ตัดเข้าไปลึกมากเกินไปจะทำให้มีเลือดออกและเป็นแผลที่ปลายเล็บได้อีก ตัดแค่ปลายเล็บประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น
2.2 ลูกสุนัขจะเริ่มลืมตาในช่วงนี้หรือประมาณอายุ 10-14 วัน แต่ลูกสุนัขจะมองเห็นยังไม่ชัด จะเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น
2.3 ลูกสุนัขเริ่มแข็งแรงมากขึ้น มีการตะกายคลานอยู่รอบพื้นที่นอน ถ้ารั้วกั้นพื้นที่นอนต่ำไปก็ต้องเพิ่มระดับความสูงให้สูงขึ้นประมาณ 1 ฟุต ให้แม่สุนัขก้าวเดินเข้าออกได้สะดวกในเวลาที่แม่สุนัขต้องการจะนอนพักภายนอกพื้นที่นอนของลูกสุนัขเป็นครั้งคราว
2.4 ความสะอาดนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะลูกสุนัขกินนมมากขึ้นย่อมถ่ายเพิ่มขึ้นตลอดวัน โดยปกติอุจจาระแม่สุนัขจะเลียให้สะอาดได้ ส่วนปัสสาวะนั้นจะก่อให้เกิดความสกปรกและหมักหมม ดังนั้น ผ้าปูที่นอนหรือวัสดุรองที่นอนต่างๆต้องนำออกมาทำความสะอาดผลัดเปลี่ยนกันอยู่ทุกวัน และควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่เป็นพิษต่อผิวหนังของสุนัข ผสมน้ำเช็ดพื้นที่นอนทุกวันด้วย
2.5 อาหารของลูกสุนัขในช่วงอายุนี้ก็คือน้ำนมแม่สุนัข หรือนมผงที่ป้อนเสริมให้ลูกสุนัขอย่างเดียว ลูกสุนัขจะกินแล้วก็นอน เจริญเติบโตขึ้นทุกวัน
3. การบำรุงเลี้ยงดูลูกสุนัขในช่วงอายุ 15-21 วัน
ลูกสุนัขอายุพ้นสัปดาห์ที่ 2 มาแล้ว ย่อมมีความแข็งแรงขึ้นมาอีกมาก และปฏิกิริยาตอบสนองเรียนรู้กับสิ่งแวดล้อมต่างๆได้ดังนี้
3.1 ลูกสุนัขลืมตาแล้วย่อมเห็นโลกกว้างขึ้น เมื่อตัวเติบโต มีกำลังแขนขาแข็งแรงขึ้น ช่วงอายุนี้จะพัฒนาการคืบคลานมากขึ้นจะถึงเริ่มหัดเดิน และจะยืนเดินได้แข็งเมื่ออายุประมาณ 21 วันนี้เอง
3.2 ลูกสุนัขเริ่มมีปฏิกิริยารู้สึกร้อน หนาว อิ่ม หิว จะส่งเสียงร้องงอแงเมื่ออากาศร้อน และจะขดตัวหนาวสั่นเมื่ออากาศหนาวเย็น เมื่อหิวนมก็จะส่งเสียงร้องเรียก
3.3 ลูกสุนัขจะเริ่มคลานไปถ่ายปัสสาวะและอุจจาระเองได้โดยไม่ต้องอาศัยแม่สุนัขมาเลียให้ที่ท้อง ผู้เลี้ยงยังคงต้องดูแลเรื่องความสะอาดของที่นอนและตัวลูกสุนัขด้วย หากลูกสุนัขนอนทับอุจจาระเปื้อนเปรอะ ผู้เลี้ยงต้องเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นและเช็ดตัวผ้าแห้งอีกที ให้ลูกสุนัขสะอาดอยู่เสมอ
3.4 ลูกสุนัขต้องการพื้นที่มากขึ้นในการคลานและเดิน ผู้เลี้ยงต้องขยายพื้นที่นอนให้กว้างขึ้น
3.5 ลูกสุนัขต้องการเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่จากสิ่งแวดล้อม เช่น ต้องการให้มนุษย์จับ อุ้ม ลูบคลำ นอนในที่รู้สึกเย็น เป็นต้น
3.6 ช่วงอายุ 3 สัปดาห์นี้เองที่ลูกสุนัขจะเริ่มเลียนมจากชามกินเองได้ แต่ต้องระวังเรื่องการสำลัก เพราะเริ่มแรกลูกสุนัขอาจจะเผลอก้มลงแล้วดูด เพราะชินจากการที่ดูดนมแม่ อาจทำให้สำลักและเป็นอันตรายต่อระบบหายใจได้ และระวังลูกสุนัขจะเอาขาหน้าเหยียบย่ำลงไปในชาม ซึ่งก็จะทำให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องคอยคุมดูแลอยู่ใกล้ๆตลอดเวลา
3.7 อาหารในช่วงอายุ 21 วัน จะเพิ่มโปรตีน แร่ธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการบำรุงลูกสุนัข ได้แก่ ไข่แดงของไข่ไก่ หรือไข่แดงของไข่เป็ด โดยใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดนี้ต้มให้สุก และใช้แต่ส่วนของไข่แดงนำมาผสมกับนมที่ใช้เลี้ยงลูกสุนัข (นมผงของเด็กเล็ก) เมื่อผสมแล้วต้องตั้งไฟให้มีความร้อนประมาณ 50 องศา ความร้อนขนาดนี้กำหนดตามหลักการ แต่ทางปฏิบัติให้สังเกตความร้อนจะเดือดก็เพียงพอ ส่วนปริมาณอาหารที่ผสมนี้ให้ประมาณวันละ 1 ครั้ง เวลาเช้า หรือวันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น ยังไม่ให้ถึงวันละ 3-4 ครั้ง เพราะลูกสุนัขยังกินนมแม่เป็นอาหารหลักอยู่
สำหรับโรคร้ายของลูกสุนัขในช่วงอายุ 21 วันนี้ คือพยาธิ โดยเฉพาะพยาธิตัวกลม จะทำให้ลูกสุนัขผ่ายผอมหรือเสียงชีวิตได้ ส่วนพยาธิปากขอที่มีอันตรายสำคัญนั้นจะไปคุกคามรุนแรงในวัยต่อๆไป ทั้งนี้ เพราะการเกิดของพยาธิปากขอต้องอาศัยระยะเวลาในการฟักตัวนานกว่า สำหรับโรคร้ายอื่นๆยังพบได้น้อยในลูกสุนัขช่วงอายุนี้ วิธีป้องกันและแก้ไขคือ ให้ลูกสุนัขกินยาถ่ายพยาธิของเด็ก อัตราการใช้ตามฉลากยา
การเลี้ยงดูลูกสุนัขตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 วัน จะไม่ยากนักถ้าผู้เลี้ยงมีเวลาและเอาใจใส่ต่อสุนัข
"สายรุ้ง"